นักวิจัย CAMT เชื่อมความร่วมมือสถาบันเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลก Massachusetts Institute of Technology (MIT)

รุกวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) และเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)

S 8675358

ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและความร่วมมือ และหัวหน้ากลุ่มวิจัย สู่ความเป็นเลิศ ด้านระบบปฏิบัติการฝังตัวและวิทยาการคำนวณ (Embedded System and Computational Science: ESCS) ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กองทุนวิจัยของวิทยาลัยฯลฯ และแหล่งทุนภายนอก โดยในกลุ่มมีนักวิจัยร่วม จากคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกันทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการวินิจฉัยโรค (Artificial intelligent for diagnosis) เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบไม่มีตัวกลางระบบทางสุขภาพ (Blockchain health system) และ ระบบสารสนเทศประยุกต์ด้านสุขภาพ (Health information system)

พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรมสารสนเทศระบบ มาแล้วระยะหนึ่งซึ่งเห็นผลลัพธ์ ทั้งจากผลงานวิจัย ระบบสารสนเทศประยุกต์ต่างๆ และการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ที่มีผลกระทบสูง (High impact factor) มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ในการต่อยอดเพื่อให้ได้งานวิจัยที่มีคุณภาพขั้นสูง เพื่อสร้างนวัตกรรม ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม

โดยการประชุมและหารือในครั้งนี้เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง แลปวิจัย ESCS ของวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี กับ MIT Jameel Clinic Lab ที่มีกรอบงานวิจัยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยการทำวิจัยจะเน้นมุ่งไปด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งความร่วมมือ จะเป็นไปในลักษณะ การทำวิจัยร่วมกัน การศึกษาพัฒนาวิธีวิทยาการวิจัยที่เหมาะสม ตลอดจน การแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกัน

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.อรวิชย์ ถิ่นนุกูล เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการ Ignacio Fuentes Executive Director MIT Jameel Clinic Lab มีความยินดีที่จะร่วมมือ เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมผ่านเครือข่ายวิจัย Node ต่างๆ ที่ร่วมมือกับ Jameel Clinic ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Agreement)

ดังนั้นการทำความร่วมมือกันครั้งนี้แสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ ว่าผลงานที่ผ่านมา ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพของกลุ่มวิจัย ESCS นั้นได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติโดยเฉพาะสถาบันทางด้านเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของโลกแห่งนี้ นับเป็นความสำเร็จขั้นต้นของกลุ่มวิจัยที่จะได้พัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายวิจัยที่สำคัญกับนักวิจัยชั้นนำระดับโลกได้

โดยในปัจจุบัน ESCS มีความร่วมมือด้านการวิจัยกับเครือข่ายระดับนานาชาติ เช่น Impreial college London, Oxford Brookes, UK, Noroff University College, Norway, Southeast University, China , Universiti Malaya, Malaysia และอีกหลายสถาบันทั้งในเอเชีย และภาคพื้นยุโรป ที่ดำเนินการวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

ด้าน อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีด้านวิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ผลงานด้านวิจัยตลอดระยะเวลา 3 ปีงบประมาณที่ผ่านมา แลปวิจัย ESCS สามารถส่งมอบผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้าน Computer Science ที่มีผลกระทบสูง (High Impact Factor) ได้รับงบประมาณจากแหล่งต่างๆ รวมกันกว่า 35 ผลงาน และรวมกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอื่นๆ อีกว่า 40 ผลงาน ส่งผลให้ในภาพรวมผลงานวิจัยที่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบผลงาน ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลกในสาขาวิชา Computer Science & Info Systems อันดับที่ 601-650 ได้ในปีที่ผ่านมาของ QS World University Rankings 2022

ปัจจุบันวิทยาลัย ฯลฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนและส่งเสริมให้คณาจารย์ได้พัฒนางานวิจัย เพื่อให้เป็นไปตามแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แผนที่ 13 ที่มุ่งเน้นกรอบวิจัยด้าน Deep Tech, Frontier Reseach, Social Innovation โดยการสนับสนุนงบประมาณ ตลอดจนสร้างกลไกต่างๆ ให้ อาจารย์สามารถมีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติได้มากขึ้น ทั้งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพอาจารย์ คุณภาพการสอน และความเข้มแข็งทางวิชาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่วิทยาลัย ฯลฯ มุ่งหวัง พร้อมขับเคลื่อน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของวิทยาลัยที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืน

ทั้งนี้ข้อมูลโครงการวิจัย ความร่วมมือ และอื่นๆ ของแลปวิจัย ESCS ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

https://coe.camt.cmu.ac.th/