วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคใต้ยุทธศาสตร์ SO2 และมูลนิธิศึกษานโยบายสาธารณะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับเทศบาลเมืองสุเทพ จัดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและการค้าเชิงดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี Generative AI ระหว่างวันที่ 28 – 29 มิถุนายน 2568 ณ ห้องคอมพิวเตอร์ C 204 อาคารศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กลุ่มคนก่อนวัยเกษียณ และอยู่ในช่วงวัยที่สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมท้องถิ่นได้แก่ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบกาท่องเที่ยวชุมชน และตัวแทนในพื้นที่เทศบาลเมืองสุเทพ
โครงการนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน นายสุรเชษฐ์ ตาคำมา นายกเทศมนตรีเมืองสุเทพ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และคุณจักรี เตจ๊ะวารี ผู้แทนมูลนิธิศึกษานโยบายสาธารณะร่วมกล่าวสนับสนุนโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการ กลุ่มตัวแทนหมู่บ้านในเทศบาลเมืองสุเทพได้ผสมผสานองค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา เข้ากับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI เพื่อสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรมีความเข้าใจในรากเหง้าของท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ และสามารถนำเสนอเอกลักษณ์ของล้านนาได้อย่างถูกต้องและน่าสนใจ และ เรียนรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในการสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ น่วมนา ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะเน้นการนำ AI มาช่วยในการผลิตเนื้อหา รูปภาพ หรือแม้แต่วิดีโอ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและการค้ามีความหลากหลาย น่าดึงดูด และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์ การตลาดการท่องเที่ยวและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าทางการค้าของเทศบาลเมืองสุเทพได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน การนำเทคโนโลยี Generative AI มาใช้จะช่วยลดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคดิจิทัล